ฟังความสองด้าน ผอ.รพ.-เทคนิคการแพทย์ กรณีร้องผู้ว่าฯตราดขาดอุปกรณ์การแพทย์

จ.ตราด/ ผู้ว่าฯตราด-สสจ.ตราด ไม่ขอพูดกรณีนักเทคนิคการแพทย์รพ.ตราดร้องผู้ว่าฯอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอ ด้านผอ.รพ.ตราด ระบุไม่ขอผู้พูดถึงลูกน้อง แต่ทำทุกอย่างเพื่อหน่วยงานและประชาชน เผยขณะรองนายแพทย์สสจ.ตราด บอกเรื่องถึงรัฐมนตรีแล้วรอตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ด้านผู้ร้องชี้ต้องการช่วยประชาชนชาวตราดหวั่นเกิดแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 แล้วจะขาดอุปกรณ์ทำงาน,พร้อมยอมรับการถูกตั้งกก.สอบ
จากการที่นายสมพร จารึกกลาง นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตราด ได้ทำหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เพื่อขอความช่วยเหลือเพื่อขอให้มีเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ โดยระบุว่า รู้สึกผิดผิดหวังกับการกระทำผู้บริหารของโรงพยาบาลตราดที่บั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของ ผู้ปฏิบัติงาน หลังจากทุกคนทุ่มเทกันทำงานในการดูแลผู้ป่วย แต่กลับขาดแคลนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เนื่องจากปัจจุบันในห้องปฏิบัติงานของแผนกยังขาดอุปกรณ์เครื่องมือ จึงขอความช่วยเหลือ จากผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ พร้อมขอให้สาธารณะชนเข้ามาช่วยเหลือ

ซึ่งเรื่องนี้ ว่าที่ร้อยตรีพิเชียน ลิมป์หวังอยู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องภายในและมีความละเอียดอ่อน ส่วนนายแพทย์บัญชา สรรพโส นายแพทย์สาธารณสุขจ.ตราดบอกว่า ในรายละเอียดคงบอกไม่ได้ เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงกำลังมีคำสั่งลงมา ต้องรอในคำสั่ง
ขณะที่นายสุรชัย เจียมกูล ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจ.ตราด เปิดเผยว่า เรื่องนี้มีการร้องเรียนไปถึงมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยการรายงานของผู้ตรวจราชการกระทรวงที่ส่งเรื่องไปยังปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีจะสั่งการลงมาให้สาธารณสุขจังหวัดดำเนินการ เนื่องจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นผู้อำนวยการระดับสูง จึงต้องให้ทางนิติกรกระทรวงสั่งมา เพราะจะได้เป็นกลาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งการลงมารออีกนิด ส่วนการที่แพทย์ผ่าตัดเสื้อกันฝนในระหว่างผ่าตัดนั้น ก็ใช้ได้ แต่ต้องมีการดูแลอย่างดี

ทางด้านนายแพทย์สุพจน์ แพรนิมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตราด เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ขออนุญาตยังไม่กล่าวในรายละเอียดต้องไปศึกษาระเบียบ ตนเองเป็นหัวหน้าส่วนราชการจะมาต่อความยาวในที่สาธารณะกับลูกน้องมันสมควรหรือไม่ ตนเองไม่ได้ทำเพื่อส่วนตน แต่ทำไปเพื่อหน่วยงานและเพื่อประชาชนซึ่งตนเองมาอยู่จังหวัดตราด ได้กล่าวไปหลายครั้งแล้วว่า มาใน 3 บทบาท
บทบาทแรกเป็นตัวแทนของส่วนกลาง ต้นสังกัดก็คือกระทรวงสาธารณสุข ที่จะสื่อนโยบาย และสื่อแนวทางในการปฏิบัติทุกเรื่องมาที่โรงพยาบาลตราด และประชาชนชาวตราด
ส่วนบทบาทที่ 2 เป็นตัวแทนของบุคลากรในโรงพยาบาล ไม่ใช่เป็นตัวแทนเฉพาะแพทย์ แต่เป็นทุกวิชาชีพในโรงพยาบาล รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ด้วย เชื่อมโยงระหว่างส่วนกลางและตัวแทน
และ บทบาทที่ 3 คือเป็นตัวแทนของประชาชนที่มาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต้องเป็นตัวแทนของประชาชน ชาว จ.ตราด และต้องรักษาบทบาททั้ง 3 บทบาทนี้ให้อยู่โดยสมดุล และและปฏิบัติหน้าที่ราชการไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และประโยชน์ของทางราชการ พูดโดยหลักการและที่พูดไปทั้งหมด แต่สิ่งอื่นใดคือเรื่องการปฏิบัติ ส่วนเรื่องการใช้เสื้อกันฝนในห้องผ่าตัดนั้น ไม่ทราบว่ามีความเป็นจริงหรือไม่?

ส่วนนายสมพร กล่าวว่าที่ต้องออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ก็เพื่อให้ห้องปฏิบัติการให้มีอุปกรณ์เครื่องมือที่สามารถวิเคราะห์หรือตรวจสอบโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะที่เป็นนักเทคนิคการแพทย์ต้องมีมาตรฐานวิชาชีพซึ่งหากแพทย์และพยาบาลให้มีการตรวจวิเคราะห์โรค แต่เครื่องมืออุปกรณ์ไม่ทันสมัย คือ ไม่สามารถตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะส่งผลต่อผู้ปฏิบัติงาน และผู้ป่วยเอง ดังนั้น หากเกิดมีผู้ป่วยเข้ามาแล้วอุปกรณ์เครื่องมือไม่สามารถตรวจสอบได้โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยิ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเพราะอุปกรณ์เครื่องมือของเราไม่พร้อม

“ผมจำเป็นต้องปกป้องตัวผมเองและผู้ปฏิบัติงานในแผนก เมื่อเกิดปัญหาขึ้น และการที่ทางผู้บริหารออกมาตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็เป็นเหมือนกับการที่ตั้งมาเพื่อเอาผิดโดยไม่มีคณะกรรมการที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคนิคการแพทย์ จึงได้ร้องเรียนไปที่คณะกรรมการเทคนิคการแพทย์ให้ตั้งคณะกรรมการลงมาตรวจสอบในเรื่องนี้เพื่อให้ความเป็นธรรมกับตัวผมและนักเทคนิคการแพทย์ ว่าผู้บริหารทำผิดมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่”
นายสมพร วันนี้ จังหวัดตราดมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ มีสนามบิน จึงจะต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย หรือมีอาวุธที่มีความพร้อม ในการออกรบ ซึ่งที่ผ่านมาผมก็ได้เรียกร้องตั้งแต่ยุคที่มีโรคซาร์ โรคไข้หวัดนก ซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือก็ยังไม่พร้อม มาถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 หากไม่มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยเหล่านี้ คิดดูว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบแค่ไหน